กิจกรรมนั่งรถรางไฟฟ้า
กิจกรรมวันนี้เด็กๆได้นั่งรถรางไฟฟ้าชมเมืองในเส้นทาง 4 แจ่ง 5 ประตู พร้อมเรื่องราว-ตำนานการสร้างเมืองเชียงใหม่
ได้ชมภูมิทัศน์รอบๆคูเมือง ได้รู้ถึงความสำคัญของเสาอินทขิล เสาหลักเมือง ต้นยางนาอายุ 200 ปีที่เป็นไม้หมายเมือง
ได้ไหว้พระอัฐฐารส ณ วัดเจดีย์หลวง ฟังเรื่องราวการสร้างเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในล้านนา
ได้ฟังเรื่องราวของพญามังรายปฐมกษัตริย์ ว่าทำไมจึงเลือกทำเลนี้เพื่อสร้างเมืองใหม่และกลายมาเป็นเมืองหลวงของอาณาจักร
และที่มาที่ไปของชื่อแจ่งคูเมืองทั้ง4 ประตูทั้ง 5 รวมถึงความเชื่อทางโหราศาสตร์ ลัคนาเมืองเบื้องต้น...
...นอกจากนี้เด็กๆยังจะได้เรียนรู้การตัดตุงล้านนา และกิจกรรมปลูกไม้สู้ฝุ่นอีกด้วย
กิจกรรมตัดตุงล้านนา
ตุงล้านนา ซึ่งคำว่า ตุง เป็นภาษาถิ่นประจำภาคเหนือ แปลว่าธงที่ใช้สำหรับแขวนแบบหนึ่งในศิลปะล้านนา สามารถพบเห็นได้ในภาคเหนือของประเทศไทย โดยคนทางภาคเหนือ จะนำตุงมาใช้เป็นเครื่องประดับ หรือประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทั้งทางศาสนา ประเพณี งานเทศกาล หรืองานเฉลิมฉลองต่างๆ วัตถุที่นำมาทำตุงในล้านนามีหลากหลายรูปแบบ ลักษณะที่แผ่นวัตถุทำจากผ้า กระดาษ ไม้ โลหะ ทองเหลือง หรือใบลาน โดยนำไม้ส่วนปลายแขวนห้อยเป็นแผ่นยาวลงมา ตามคติความเชื่อของคนล้านนาเกี่ยวกับตุงที่ทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ใช้ในงานพิธีทางศาสนา ทั้งในงานมงคลและอวมงคล โดยมีขนาดรูปทรงและรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้าง ตามความเชื่อพิธีกรรม ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น อย่างไรก็ดีคนล้านนามีความเชื่อว่า การถวายหรือทานตุงนั้นจะได้รับผลบุญและอานิสงค์ เพื่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขเป็นอย่างมาก หรือบางตำรามีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า เมื่อตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์หรือเมื่อตกนรกชายตุงจะแกว่งฉุดวิญญาณขึ้นมาจากนรกให้ขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์...
(ที่มา : หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่)
วันนี้เด็กๆได้เรียนรู้การตัดตุงใส้หมูหรือตุงใส้ช้าง
โดยตุงใส้หมูนี้ ชาวล้านนามักจะตัดกันในเทศกาลวันปีใหม่เมือง
โดยจะแขวนไว้บนไม้ใผ่แล้วปักไว้บนเจดีย์ทรายในวันพญาวัน
กิจกรรมปลูกไม้สู้ฝุ่น
เขียวสวยหอมและเครือข่ายการทำงานภาคประชาชนสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ทั้งในเขตเมืองและเขตป่า
จึงได้จัดกิจกรรมนี้กับเด็กๆ เพื่อว่าเด็กๆจะได้เรียนรู้การสร้างพื้นที่สีเขียว ไม่จำกัดว่าจะเป็นเพียงปลูกต้นไม้เล็กๆหรือไม้ยืนต้นสูงใหญ่
แต่ขอให้เพียงริเริ่มลงมือทำ... จากจุดเล็กๆในหัวใจ
“...เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควรจะปลูกต้นไม้ ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...”
(พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ณ หน่วยจัดการต้นน้ำทุ่งจ๊อ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วันเสาร์ที่ 31 มกราคม 2519)
.
ท้ายนี้หวังว่าเด็กๆจะได้เติมเต็มความรู้ ได้คิดอย่างมีวิจารณญาณ และเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ของเมืองเชียงใหม่ อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาสังคมไม่เพียงแต่ในด้านสิ่งแวดล้อมแต่ยังครอบคลุมถึงมิติของศิลปะวัฒนธรรมของเชียงใหม่อีกด้วย
ติดต่อรายละเอียด
Tel. 081 4726987 (Dtac); 081 1639887(Ais)
email: panu009@gmail.com
https://web.facebook.com/chiangmaiassetworld/
Line Id: panu0010